การขับเคลื่อนชุมชนบ้านแคเหนือสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน



การขับเคลื่อนชุมชนบ้านแคเหนือสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ( 1 ) :
ทำความรู้จักกับ SDGs



                เมื่อวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2560 ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมเวทีสัมมนาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเรื่องการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)  ซึ่งจัดโดย กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ โรงแรม ที อาร์ ร็อคฮิลล์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ห้วงหนึ่งผมคิดถึงชุมชนของผม คือ ชุมชนบ้านแคเหนือ ด้วยคำถามในจินตนาการว่าชุมชนเล็กๆจะสามารถขับเคลื่อนเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ได้หรือไม่ และอย่างไร

        

          
           โจทย์ข้อนี้ นับว่าสำคัญและท้าทายมากครับ เพราะ SDGs ถูกพูดถึงในการขับเคลื่อนประเทศโดยรัฐและองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค แต่การจะทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประสบความสำเร็จและเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืนได้ ส่วนตัวผมคิดว่าต้องเริ่มจากชุมชน
     บทความนี้ ผมขออนุญาตทำความรู้จักกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ซึ่งต่อไปนี้ขอเรียกสั้นๆว่า SDGs กันก่อนนะครับ โดยขออนุญาตนำข้อมูลของมูลนิธิมั่นพัฒนามานำเสนอครับ

ที่มาของ SDGs
      การพัฒนาในด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อทรัพยากรโลกเป็นอย่างมาก เมื่อปี 2543 ประเทศไทยและประเทศต่าง ๆทั่วโลกรวม 189 ประเทศจึงรวมตัวกันในการประชุมองค์การสหประชาชาติที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และเห็นพ้องต้องกันในการตั้งเป้าหมายการพัฒนาทั้งในระดับชาติและระดับสากลที่ทุกประเทศจะดำเนินการร่วมกันให้ได้ภายในปี 2558 โดยเป้าหมายดังกล่าวเรียกว่า เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) อันประกอบด้วย 8 เป้าหมายหลัก คือ


1. ขจัดความยากจนและความหิวโหย
2. ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา
3. ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและบทบาทสตรี
4. ลดอัตราการตายของเด็ก
5. พัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์
6. ต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่น ๆ
7. รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
8. ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก
         ระยะเวลา 15 ปีผ่านมา เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษทั้ง 8 ข้อ กำลังจะสิ้นสุดลง โดยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในหลายประเทศ ซึ่งเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการพัฒนา องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาขึ้นใหม่โดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นมิติ (Dimensions) ของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกัน  เรียกว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)

SDGs คืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง


          เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นทิศทางการพัฒนาซึ่งจะใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี 
โดยประกอบไปด้วย 17 เป้าหมายคือ


         เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบทุกที่


         เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น 
และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน


 เป้าหมายที่ 3 ทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต
 และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ


          เป้าหมายที่ 4 ทำให้แน่ใจถึงการได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง 
และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน


          เป้าหมายที่ 5 บรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน


 เป้าหมายที่ 6 ทำให้แน่ใจว่าเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน
และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน


          เป้าหมายที่ 7 ทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน 
เชื่อถือได้ ตามกำลังซื้อของตน


  เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน 
ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน


        
  เป้าหมายที่ 9 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม


          เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ



    
      เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง 
พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน


          เป้าหมายที่ 12 ทำให้แน่ใจถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน


            เป้าหมายที่ 13 ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และผลกระทบที่เกิดขึ้น


          เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน


          เป้าหมายที่ 15 พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก 
จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน 
และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ


          เป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมให้สังคมมีความเป็นปกติสุข ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 
มีการเข้าถึงความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า และสร้างให้เกิดสถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวม มีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ


   เป้าหมายที่ 17 เสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล 
และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน



ความคิดเห็น