แนวทางการยกระดับผลการสอบระดับชาติของโรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์
โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์
อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เปิดสอนระดับปฐมวัย
ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา บริหารจัดการโดยเน้นคุณภาพ
ด้วยระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ภายใต้ปรัชญา “วิชาการดี มีคุณธรรม”
และวิสัยทัศน์ “เป็นผู้นำทางวิชาการ บริการชุมชน สร้างคนให้เป็นคนดี
เชิดชูวิถีอิสลาม”
ปี ๒๕๕๕ เป็นปีที่โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์
ต้องรับการประเมินคุณภาพภายนอก รอบที่ ๓ จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ซึ่งการประเมินรอบนี้
จะมีผลต่อการรับรองมาตรฐานของสถานศึกษา โดยเงื่อนไขสำคัญของการได้รับการรับรอง คือ
สถานศึกษาต้องผ่านการประเมินทุกมาตรฐาน และไม่มีมาตรฐานใดอยู่ในระดับปรับปรุง นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก
ส่วนที่ท้าทายที่สุด คือ มาตรฐานที่ ๕ ซึ่งเป็นการประเมินผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน
(O-NET) ๘ กลุ่มสาระ ที่ต้องมีค่าเฉลี่ยรวมไม่ต่ำกว่า ๘.๐๐ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากในการที่จะให้นักเรียนทำคะแนนสอบให้สูงถึงระดับเกณฑ์ที่กำหนด
งานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ จึงได้ศึกษาข้อมูลผลการทดสอบระดับชาติของโรงเรียน และวิเคราะห์หลักเกณฑ์ที่
สมศ. กำหนด พบว่า ในการประเมินมาตรฐานที่ ๕ จะมีคะแนนพิเศษให้สำหรับกลุ่มสาระที่ผลการสอบมีพัฒนาการ โดยจะได้รับคะแนนเพิ่มกลุ่มสาระละ ๐.๕ คะแนน ดังนั้น หากสามารถยกระดับผลการสอบให้มีพัฒนาการด้วยการให้นักเรียนทำคะแนนสอบในปี
๒๕๕๕ ให้สูงกว่าปี ๒๕๕๔ ทุกกลุ่มสาระก็จะได้คะแนนพิเศษสูงถึง ๔ คะแนน
งานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ จึงได้กำหนดเป้าหมายการทดสอบระดับชาติ ปี ๒๕๕๕
ต้องมีพัฒนาการทุกกลุ่มสาระ โดยได้ร่วมกันกำหนดแผนและแนวทางในการยกระดับผลการสอบระดับชาติ
ออกเป็น ๒ ระยะ คือ แผนระยะสั้นและระยะยาว
แผนระยะยาว
เป็นการดำเนินการตลอดปีการศึกษา โดยเน้นที่กระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน ประกอบด้วย
๑. การสอนโดยยึดตัวชี้วัดหลักสูตร ไม่ยึดแบบเรียนเป็นหลัก
ซึ่งครูต้องวิเคราะห์ตัวชี้วัดว่าหลักสูตรต้องการให้เกิดผลอย่างไรต่อผู้เรียน
การใช้ข้อสอบเป็นแบบฝึกหัดให้นักเรียนได้ฝึกคิด ฝึกปฏิบัติ
และการออกข้อสอบสำหรับวัดประเมินผลตามตัวชี้วัด
๒. การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
โดยออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์
สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้ และเน้นกระบวนการกลุ่ม
ในขณะที่ครูต้องพัฒนาเทคนิคการสอน การพัฒนาสื่อและนวัตกรรม และการพัฒนารูปแบบและวิธีการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้
๓. การบันทึกหลังสอนที่สามารถนำไปใช้ในการวิจัยได้อย่างแท้จริง โดยการค้นหาปัญหา วิเคราะห์หาสาเหตุปัญหาที่แท้จริง และการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา
๔. การนิเทศการสอนในรูปแบบกัลยาณมิตรนิเทศอย่างต่อเนื่อง
โดยการให้ครูที่รับการนิเทศ เสนอชื่อเพื่อนครูที่ต้องการให้เข้าร่วมนิเทศร่วมกับบุคลากรที่ทางโรงเรียนมอบหมาย
เสริมจุดเด่นและกำจัดจุดอ่อนให้แก่ครู และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
แผนระยะสั้น
เป็นการดำเนินการในช่วงหนึ่งเดือนก่อนการสอบ โดยเน้นที่กระบวนการการเตรียมความพร้อม
ประกอบด้วย
๑.
การสร้างความตระหนัก
ดำเนินการ ๒ ครั้ง ครั้งแรกโดยผู้อำนวยการโรงเรียน
ในช่วงต้น และโดยผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอหรือจังหวัดในช่วงท้าย
๒.
การจัดสอบ
Pre
O-NET โดยครูประจำกลุ่มสาระออกข้อสอบตามตัวชี้วัด
จัดสอบเสมือนจริง และจัดอันดับนักเรียนที่ทำคะแนนได้สูงสุด ๑๐ อันดับแรก เพื่อมอบรางวัล
และคะแนนต่ำสุด ๑๐ อันดับท้าย เพื่อซ่อมเสริมพิเศษ
๓. การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสอบ โดยการชี้แจงระเบียบการสอบให้นักเรียนทราบ
การเตรียมความพร้อมของนักเรียนเป็นรายบุคคล
การดำเนินการตามแผนและแนวทางดังกล่าว
ประสบความสำเร็จอย่างมาก เมื่อผลการทดสอบระดับชาติในปี ๒๕๕๕
มีพัฒนาการทุกกลุ่มสาระตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากปัจจัยที่สำคัญ
ได้แก่ การทำงานอย่างเป็นระบบ การทำงานเป็นทีมและการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น