หลักสูตรสร้างสุขที่วิทยาลัยทุ่งโพ

หลักสูตรสร้างสุขที่วิทยาลัยทุ่งโพ

นายอะหมัด หลีขาหรี
ผู้รับผิดชอบโครงการวิทยาลัยทุ่งโพ เรียนรู้ร่วมกัน ร่วมสร้างสรรค์ชุมชนน่าอยู่
สถานการณ์ชุมชน
          เวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น. ของคืนวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนลอบวางเพลิงศาลาประจำหมู่บ้าน บ้านแคเหนือ หมู่ที่ ๒ ตำบลแค อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้รับความเสียหายทั้งหลัง ซึ่งจุดที่ถูกเผาเป็นจุดที่มีการจัดงานเปิดหมู่บ้านเสื้อแดง เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕
เหตุการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดกระแสความขัดแย้งขึ้นในชุมชน เนื่องจากในชุมชนมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมดังกล่าว รวมไปถึงกลุ่มที่ไม่พอใจกับการลอบวางเพลิงศาลาประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของชุมชน เมื่อความขัดแย้งใหม่จากการเมืองใหญ่เริ่มก่อตัว บวกกับทุนเดิมอย่างความขัดแย้งจากการเมืองท้องถิ่น จึงสะท้อนให้เห็นแนวโน้มวิกฤติความขัดแย้งที่น่ากลัว
แต่ในขณะเดียวกัน วิกฤติดังกล่าวกลับสร้างโอกาสให้เกิดการพูดคุยของกลุ่มคนที่เป็นห่วงสถานการณ์ปัญหาของชุมชน และเป็นที่มาของการเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ในนามโครงการ “วิทยาลัยทุ่งโพ เรียนรู้ร่วมกัน ร่วมสร้างสรรค์ชุมชนน่าอยู่”
         โครงการวิทยาลัยทุ่งโพ ฯ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความสามัคคี เสียสละ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองและผู้อื่น โดยอาศัยทุนของชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงของชีวิต 
                   โจทย์สำคัญอันดับแรกของโครงการ คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถรวมคนให้มาร่วมกันคิด ร่วมกันพูดคุย ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชน เพื่อตอบโจทย์ข้อนี้ ทางคณะทำงานของโครงการ จึงเลือกใช้ “นูหรี”  ประเพณีดั้งเดิมของชุมชน เป็นเครื่องมือสำคัญในการรวมคน
คำว่า “นูหรี” หมายถึง ประเพณีงานบุญของชุมชน มีกิจกรรมสำคัญ คือ การจัดเลี้ยงอาหารและร่วมกันขอพร โดยการเชิญคนในชุมชนมารับประทานอาหาร จัดได้ทั้งในรูปแบบปัจเจกบุคคลเป็นเจ้าภาพหรือในระดับชุมชน โดยแขกที่ได้รับเชิญต้องตอบรับคำเชิญซึ่งถือเป็นมารยาท ผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้หญิงหรือแม่บ้านจะช่วยกันประกอบอาหารจากวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่เจ้าภาพเตรียมไว้ ในช่วงเวลาระหว่างการประกอบอาหาร ช่วงรับประทานอาหาร และภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมก็จะมีการพูดคุย ถามสารทุกข์สุขดิบ ปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะวงพูดคุยตามธรรมชาติ  

ปัจจัยเอื้อ/ปัจจัยสาเหตุ
ชุมชนบ้านแคเหนือ มีปัจจัยเอื้อสำคัญที่ถือเป็นทุนตั้งต้นในการขับเคลื่อนงานของชุมชน คือ การทำงานร่วมกันของผู้นำชุมชน  ทั้งกำนัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล  อีหม่าม ผู้นำศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน และแกนนำชุมชน มีการประชุมและปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ  ทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนสูง        ในขณะเดียวกัน ปัจจัยสาเหตุสำคัญของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น คือ คนในชุมชนขาดเวทีในการสื่อสาร พูดคุย และทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ขาดกลไกในการรวมคนเพื่อร่วมกันคิดเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน และขาดบรรยากาศที่ดีในการพูดคุยในรูปแบบกัลยาณมิตร

หลักคิดในการดำเนินงาน
โครงการวิทยาลัยทุ่งโพฯ ดำเนินงานภายใต้หลักคิดของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ในการขับเคลื่อนโครงการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นให้น่าอยู่  ที่เรียกว่า “สมการสร้างชุมชนน่าอยู่” คือ ผู้นำพร้อม + ชุมชนพร้อม + ความรู้พร้อม  = ชุมชนน่าอยู่ บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า การสร้างชุมชนให้น่าอยู่ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ ประการ คือ (๑) ผู้นำพร้อม หมายถึง การมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา และได้รับการยอมรับจากชุมชน (๒) ชุมชนพร้อม หมายถึง คนในชุมชนพร้อมให้ความร่วมมือกับผู้นำในการพัฒนาชุมชน และ (๓) ความรู้พร้อม หมายถึง การมีข้อมูล ความรู้ และทักษะ

วิธีการ/กระบวนการ
         กระบวนการทำงานของโครงการวิทยาลัยทุ่งโพ ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ ๗ ขั้นตอน คือ
๑) การเปิดตัวโครงการ เพื่อชี้แจงการดำเนินการโครงการให้คนในชุมชนทราบ ร่วมกันกำหนดบทบาทในการมีส่วนร่วมกับโครงการของคนในชุมชนว่าจะมีบทบาทและมีส่วนร่วมกับโครงการในช่วงเวลาไหน อย่างไร
๒) การจัดกิจกรรมสานเสวนา จำนวน ๕ ครั้งกับ ๕ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้นำชุมชน และผู้นำศาสนา กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มตัวแทนองค์กรชุมชน โดยการสานเสวนาทั้ง  ๕ ครั้ง เป็นการพูดคุยเพื่อค้นหาทุนชุมชนร่วมกัน ผ่านการตอบคำถามที่ว่า “อะไรที่ทำให้บ้านแคเหนือน่าอยู่” และการค้นหาสถานการณ์ปัญหาชุมชนร่วมกัน ผ่านการตอบคำถามที่ว่า “อะไรที่ทำให้บ้านแคเหนือไม่น่าอยู่
๓) การจัดกิจกรรมเวทีสุขภาวะบ้านแคเหนือ เป็นกระบวนการในการคืนข้อมูลให้กับชุมชนผ่านการจัดนิทรรศการและการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับทุนชุมชน และสถานการณ์ปัญหาชุมชน ซึ่งได้มาจากกิจกรรมสานเสวนาทั้ง ๕ ครั้ง จากกิจกรรมการสานเสวนา พบว่า ทุนชุมชนที่สำคัญของชุมชน ได้แก่
๑.)  การมีองค์กรศาสนาที่เข้มแข็ง โดยการมีมัสยิดมะวาย์เป็นศูนย์กลางของชุมชน มีโรงเรียนมะวาย์วิทยาเป็นสถานศึกษาและอบรมคุณธรรม จริยธรรมแก่เยาวชนในชุมชน มีปอเนาะทุ่งคำ เป็นสถาบันที่สั่งสอน อบรม และขัดเกลาเยาวชนให้เป็นคนดี ดำเนินชีวิตตามหลักการศาสนา และสร้างผู้นำทางศาสนาแก่ชุมชน
๒.)  มีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ โดยการมีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย ทั้งแหล่งน้ำ สวน ป่า และทุ่งนา มีทุ่งคำ เป็นอู่ข้าว อู่น้ำ และฐานทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญของชุมชน
๓.)   มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและมีวิถีชีวิตที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยการมีประวัติศาสตร์ที่เป็นรากฐานของชุมชน และมีวิถีชีวิตที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
๔.)    มีผู้นำและชาวบ้านที่มีความพร้อม โดยการมีผู้นำที่ได้รับการยอมรับ และมีชาวบ้านที่พร้อมให้ความร่วมมือและเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน
๕.) มีกลุ่มองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง โดยการมีกลุ่มองค์กรชุมชนที่ประสานความร่วมมือกัน และทำงานเพื่อประโยชน์ของชุมชน
และจากกิจกรรมการสานเสวนา พบว่า สถานการณ์ปัญหาที่สำคัญของชุมชน ได้แก่
๑.)  ปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นตัวทำลายศักยภาพเยาวชน และบั่นทอนความเข้มแข็งของชุมชน
๒.)    ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ก่อให้เกิดมลภาวะในชุมชน
๓.)   ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่สร้างความหวาดระแวงต่อกัน และบั่นทอนความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของคนในชุมชน
๔.)    ปัญหาขาดสถานที่ออกกำลังกายและพื้นที่สร้างสรรค์ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมสุขภาพชุมชน
๕.)    ปัญหาความขัดแย้ง ที่บั่นทอนพลังความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน
๔) การจัดทำหลักสูตร โดยการวิเคราะห์ทุนชุมชน และสถานการณ์ปัญหาชุมชนของผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และปราชญ์ชาวบ้าน แล้วสังเคราะห์เป็นหลักสูตรสำหรับการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน โดยหลักสูตรที่จัดทำขึ้นมีทั้งหมด ๕ หลักสูตร ได้แก่
๑.      หลักสูตรครอบครัวอิสลาม มีเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันครอบครัว เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เป็นเกราะป้องกันยาเสพติด เรียนรู้เนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายอิสลาม บทบาทสมาชิกในครอบครัว สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว และบทบาทของครอบครัวในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
๒.   หลักสูตรการจัดการขยะ มีเป้าหมายในการจัดการขยะ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมเรียนรู้เนื้อหาเกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับขยะ การจัดการขยะ และการใช้ประโยชน์จากขยะ
๓.   หลักสูตรประวัติศาสตร์ชุมชน มีเป้าหมายในการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจและความภาคภูมิใจต่อรากฐานและความเป็นมาของชุมชน เรียนรู้เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชุมชน บุคคลสำคัญในอดีต สถานที่สำคัญ และเหตุการณ์สำคัญในอดีต
๔.   หลักสูตรฟัรดูกิฟายะห์ มีเป้าหมายในการเรียนรู้ฟัรดูกิฟายะห์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้จิตอาสาและการพึ่งพาอาศัยกัน เรียนรู้เนื้อหาเกี่ยวกับฟัรดูกิฟายะห์ในชีวิตประจำวัน และขั้นตอนการจัดการศพ
๕.      หลักสูตรสิทธิ มีเป้าหมายในการเรียนรู้เรื่องสิทธิ เพื่อการปกป้องสิทธิของตนเองและผู้อื่น เรียนรู้เนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิชุมชน สิทธิเพื่อนบ้าน และสิทธิมุสลิมต่อมุสลิม
๕) จัดทำสื่อประกอบหลักสูตร โดยการจัดทำสื่อสำหรับใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร ตัวอย่างสื่อที่จัดทำขึ้น เช่น เอกสารประกอบหลักสูตร โมเดลบ่อหมักแก๊สชีวภาพ เป็นต้น
๖) จัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร โดยการจัดกิจกรรมบรรยายให้ความรู้ การสาธิต และการลงมือปฏิบัติตามความเหมาะสมของหลักสูตร
๗) พัฒนาหลักสูตร ปรับปรุงพัฒนาหลักสูตร และการขยายผล โดยการปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรให้
มีความสมบูรณ์มากขึ้น และขยายผลสู่การปฏิบัติในรูปแบบข้อตกลงร่วมกันของสมาชิกในชุมชน
          ๑.) การขยายผลหลักสูตรฟัรดูกิฟายะห์(จิตอาสา) ด้วยการมีข้อตกลงร่วมกันว่า หากมีสมาชิกในชุมชนเสียชีวิต ให้ร่วมกันอาสาจัดการศพตามหลักการอิสลาม ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่ การอาบน้ำศพ การห่อศพ การละหมาดศพ และการฝังศพ
          ๒.) การขยายผลหลักสูตรการจัดการขยะ ด้วยการส่งเสริมการคัดแยกขยะและการจัดทำบ่อหมักแก๊สชีวภาพในครัวเรือน โดยครัวเรือนใดที่ต้องการทำบ่อหมักแก๊สชีวภาพ จะมีวิทยากรจากทางโครงการคอยให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือ
          ๓.) การขยายผลหลักสูตรประวัติศาสตร์ชุมชน ด้วยการรวบรวมข้อมูล และจัดทำเอกสารนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนที่เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาของชุมชน บุคคลและสถานที่สำคัญของชุมชน และภูมิปัญญาของชุมชน และการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน บ้านแคเหนือ

ผล/คุณค่าจากการดำเนินงาน
๑. เกิดความรู้และนวัตกรรมชุมชน จากการพัฒนาและจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร จำนวน ๕ หลักสูตร ทำให้คนในชุมชนเกิดความรู้และทักษะในหลายด้าน และวิทยาลัยทุ่งโพฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ของชุมชน
๒. เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เอื้อต่อสุขภาพ จากการให้บริการตรวจวัดความดันโลหิต วัดระดับน้ำตาลในเลือด วัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก และให้คำแนะนำด้านสุขภาพแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเวทีสุขภาวะบ้านแคเหนือและการเรียนรู้ตามหลักสูตร โดยกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ทำให้คนในชุมชนมีโอกาสได้ทราบข้อมูลสุขภาพของตนเอง ส่งผลให้เกิดความตระหนักในการดูแลสุขภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
๓. การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ จากการกำหนดให้พื้นที่จัดกิจกรรมเป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลด ละ เลิกบุหรี่ เนื่องจากทุกครั้งที่มีการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้สูบบุหรี่ที่เข้าร่วมกิจกรรมลดการสูบบุหรี่ลง ในช่วงเวลาที่จัดกิจกรรมประมาณ 3-4 ชั่วโมง
๔. การพัฒนานโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาวะ จากการเรียนรู้หลักสูตรฟัรดูกิฟายะห์(จิตอาสา) ก่อให้เกิดข้อตกลงร่วมของชุมชน เรียกว่า “ธรรมนูญชุมชนบ้านแคเหนือ พ.ศ. ๒๕๕๘”
๕. เกิดกระบวนการชุมชน  จากการเรียนรู้ตามหลักสูตรนำมาสู่การปฏิบัติจริง ผ่านการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครขึ้น จำนวน ๕ กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังและป้องกันยาเสพติด กลุ่มอาสาสมัครยุวดาอีย์ กลุ่มอาสาสมัครส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กลุ่มอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ และกลุ่มอาสาสมัครมัคคุเทศก์อาสา มีการรวมตัวเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอาสาสมัครชุมชนบ้านแคเหนือ พร้อมกับการสร้างแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน บ่อหมักแก๊สชีวภาพ บ่อนาซีเมนต์ เป็นต้น
๖. มิติสุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณ จากการสานเสวนาและการเรียนรู้ตามหลักสูตร ทำให้คนในชุมชนเกิดการเรียนรู้ถึงคุณค่าของทุนชุมชน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ รัก และหวงแหนชุมชน เห็นสมดุลระหว่างประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตน เรียนรู้การพึ่งตนเอง ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และพอเพียง รู้จักการให้อภัยและการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

การขยายผล
จากการทำงานอย่างต่อเนื่องของกลุ่มและเครือข่ายอาสาสมัครชุมชนบ้านแคเหนือ ทำให้ในเวลาต่อมา มีการเชื่อมประสานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ มีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วม หรือ MOU ระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลแค โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแค และมัสยิดมะวาย์ในการให้การสนับสนุน ทั้งในด้านงบประมาณและองค์ความรู้แก่กลุ่มอาสาสมัครที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับแผนงานขององค์กร นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ผ่านการจัดงานของดีบ้านแคเหนือ ซึ่งจัดผ่านมาแล้ว ๒ ครั้ง ในปี ๒๕๕๗ และ ๒๕๕๘

         ปัจจุบัน ชุมชนบ้านแคเหนือเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ ที่พร้อมต้อนรับคณะศึกษาดูงาน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผ่านการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพโดยคณะทำงานของวิทยาลัยทุ่งโพ ฯ  โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลแค โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแค และมัสยิดมะวาย์ เป็นภาคีเครือข่ายหลักในการให้การสนับสนุน

ความคิดเห็น